5 ปีที่ผ่านมา คนไทยแห่ลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี ขณะที่มีความรู้ในระดับปานกลางถึงน้อย แนะรัฐเร่งให้ความรู้เพื่อให้เท่าทันความเสี่ยง ระบุมูลค่าไม่คงที่ ชี้ผันผวนสูงกว่า 68%
น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เปิดเผยข้อมูลจากสำรวจ พบว่านักลงทุนไทยสนใจคริปโตเคอร์เรนซี เพิ่มขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่ลงทุนในคริปโตฯ เมื่อเทียบกับพอร์ตรวม พบว่ามีการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีเกิน 50% สัดส่วน 25.5% ลงทุน 10-15% สัดส่วน 18.6% และลงทุนน้อยกว่า 10% สัดส่วน 16.6% โดย 5 เหตุผลหลักของการลงทุน 18.2% เชื่อมั่นว่าราคาจะขึ้นไปอีกเรื่อยๆ และคาดหวังที่จะได้ผลตอบแทนสูง 16.5% ต้องการเรียนรู้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ 16.5% ต้องการความท้าทายใหม่ๆ 14.6% มองว่าสินทรัพย์ทางการเงินดั้งเดิมได้รับผลตอบแทนน้อย และ 13.9% เชื่อมั่นถึงความปลอดภัยของระบบ
ขณะที่สินทรัพย์ทางการเงินที่นักลงทุนเลือกที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพอร์ต ในปี 65 อันดับ 1 คือ คริปโตเคอร์เรนซี 43% อันดับ 2 คือ หุ้น 19.2% อันดับ 3 คือ DeFi 11.3% อันดับ 4 คือกองทุนรวม 10.8% และอันดับ 5 คือ เงินฝาก 8.9% อย่างไรก็ตาม ในการประเมินความรู้ด้านคริปโตเคอร์เรนซีของนักลงทุน พบว่ามีมากถึง 50.5% ความรู้อยู่ในระดับปานกลาง, มี 27% ยังเป็นคนที่มีความรู้น้อย, 18.2% ค่อนข้างดี, 2.6% ดีมาก และ 1.6% ยังไม่แน่ใจ
“ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนไทยหันมาสนใจคริปโตฯเพิ่มขึ้น จึงเป็นโจทย์ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อเป็นทางเลือกลงทุนที่มีความรู้เท่าทัน เพราะแม้คริปโตเคอเรนซีมีผลตอบแทนสูง แต่ความผันผวนสูงถึง 68% แปลว่าถ้าลงทุน 100 บิตคอยน์ผันผวนถึง 68% ทำให้ต้องรับรู้ว่ามีความเสี่ยงเหล่านี้ด้วย”
ก.ล.ต.เล็งห้ามทำธุรกรรมบน De-Fi
ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้ามาดูแลตลาดเงินดิจิทัล มากขึ้น โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (7 ธ.ค.) ก.ล.ต.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้บริการแก่ลูกค้าของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล และที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมบน Decentralized Finance Platform (แพลตฟอร์ม DeFi) ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการในวงกว้าง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง
ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ให้บริการทางการเงินรูปแบบ DeFi ซึ่งเป็นบริการ ทางการเงินรูปแบบกระจายศูนย์ ไม่พึ่งพาตัวกลาง โดยใช้กลไกควบคุมการดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดผ่านสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) เช่น การให้ยืมและยืมสินทรัพย์ดิจิทัล การนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปเพิ่มสภาพคล่องเพื่อหาผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เป็นต้น ก.ล.ต.เห็นว่าการทำธุรกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ อาจอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ และยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าการให้บริการดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใด มีความเสี่ยงสูง และที่ผ่านมามีกรณีที่เป็นการหลอกลวงมีการโจรกรรมทางไซเบอร์ ทำให้ผู้ลงทุนเสียหายและอาจไม่มีโอกาสติดตามทวงคืน เนื่องจากอำนาจการเข้าถึงและควบคุมทรัพย์สินเป็นของผู้พัฒนาแพลตฟอร์มแต่เพียงผู้เดียว
ก.ล.ต.จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้มีความชัดเจน ดังนี้ 1.ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล นำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปทำธุรกรรมใดๆ บนแพลตฟอร์ม DeFi และ 2.ห้ามมิให้ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลให้คำแนะนำแก่ลูกค้า หรือจัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ DeFi เพื่อป้องกันการชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการดังกล่าวในวงกว้าง โดยสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.จนถึงวันที่ 7 ม.ค.65
ธปท.จ่อคุมสินทรัพย์ดิจิทัลชำระค่าสินค้า
ด้าน น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท. กำลังหารือกับ ก.ล.ต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกแนวนโยบายกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากที่ผ่านมามีสถาบันการเงินบางแห่งร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจใช้สินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี ในการแลกเปลี่ยนชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งมีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้น อันอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และเสถียรภาพระบบชำระเงินของประเทศ
“กรณีที่มีธนาคารพาณิชย์บางรายเข้าไปถือหุ้น หรือได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรในบริษัทธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านบริษัทในเครือนั้นไม่ได้ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ผู้ที่ใช้บริการต้องรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น อีกทั้ง ธปท.ยังไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง”
หวั่นป่วนเสถียรภาพการเงินประเทศ
ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ธปท.มีความกังวลในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีสินทรัพย์อื่นหนุนหลัง (Blank Coin) เพราะราคามีความผันผวนสูง มูลค่าไม่คงที่ โดย ธปท.กำลังหารือกับ ก.ล.ต.เพื่อดูแลความเสี่ยง และการแข่งขันต้องให้เกิดความเท่าเทียมกัน และหากเอกชนรายใดที่ทำไปแล้ว สามารถกลับมาคุยกันได้ ไม่อยากให้เอกชนที่ทำไปแล้ว พอมีเกณฑ์ออกมาจะเกิดต้นทุนการทำธุรกิจ ส่วนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง (Stable Coin) ลักษณะธุรกิจอี-มันนี่ ธปท.จะมีโครงสร้างชำระเงิน ความปลอดภัย ยกตัวอย่าง การชำระเงินโดยใช้เหรียญดิจิทัล ธุรกิจจะลงบัญชีอย่างไร ต้นทุนทางบัญชีจะคิดอย่างไร
“การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งอาจไม่ต้องผ่านตัวกลาง ทำให้จะเกิดความเสี่ยง สร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค ความผันผวนด้านราคา, และมาตรฐานความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการใช้ชำระ เช่น ภัยไซเบอร์ อาจถูกแฮ็กเจาะระบบ เกิดการสูญหายของสินทรัพย์ หรือเหรียญได้ และหากนำมาใช้อย่างแพร่หลายอาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงิน และเสถียรภาพด้านการเงิน เพราะถ้าคนมาถือเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น การควบคุมจะน้อยลง เพราะคนใช้เงินบาทน้อย ความสามารถ ธปท.ควบคุมดูแลภาวะการเงินสอดคล้องภาวะเศรษฐกิจลดน้อยลง และการดูแลความผันผวนทำได้ยากขึ้น และเมื่อเกิดวิกฤติจะไม่สามารถป้องกันได้.
ที่มา : https://www.thairath.co.th/