สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีการรายงานว่า ธุรกิจ “สินทรัพย์ดิจิทัล” กำลังเป็นประเด็นฮอตฮิตในแวดวงคริปโตของเมืองไทย เนื่องจากทั้งภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างเริ่มสนใจก้าวเข้าสู่ตลาดในมิติต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันเกณฑ์การกำกับดูแล และแนวทางปฏิบัติยังคงไม่ชัดเจนในหลายประเด็น รวมถึงเรื่องการจัดเก็บภาษีที่มีการหารือกันอยู่
และนอกจากเรื่องภาษีแล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการประชุมหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความชัดเจนเรื่องขอบเขตการดำเนินธุรกิจของผู้ได้รับใบอนุญาต รวมถึงการเดินหน้าปรับแก้กฎหมาย พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
สั่งห้ามใช้ชำระค่าสินค้า
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.เตรียมออกประกาศเกี่ยวกับประเด็นที่จะไม่ส่งเสริมให้นำคริปโตมาใช้ในการชำระสินค้าและบริการ พร้อมกันนี้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง)ในการจำกัดขอบเขตให้บริการของผู้ได้รับใบอนุญาตต่าง ๆ
ประเด็นเหล่านี้จะครอบคลุมไปถึง ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange), นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (broker) รวมทั้งผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (dealer) ก่อนที่จะมีการประกาศว่า ใบอนุญาตแต่ละประเภทจะทำอะไรได้บ้าง รวมทั้งการห้ามนำคริปโตไปใช้เพื่อรับชำระค่าสินค้าและบริการ
จำกัดขอบเขตผู้ได้รับใบอนุญาต
แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.ต้องมีการกำหนดไกด์ไลน์ให้ชัดเจนว่า ผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภทจะทำอะไรได้บ้าง และทำอะไรไม่ได้บ้าง เรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นความผิดของภาคธุรกิจ หรือของใคร แต่เพราะเป็นเรื่องใหม่ของโลก ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับไม่ได้มีการกำหนดขอบเขตชัดเจน
เคลียร์ปมเก็บภาษี
เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ประชุมร่วมกับกรมสรรพากร ธปท. สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล
โดยหลังการประชุม สำนักงาน ก.ล.ต.ระบุว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นจากผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลทุกฝ่าย และจากแบบสอบถามที่สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยเป็นผู้รับผิดชอบจัดส่งให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในชุมชนของสินทรัพย์ดิจิทัล
ยื่นภาษีคริปโตแล้วกว่า 1,000 ราย
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังได้เปิดเผยกับสื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการหารือร่วมกัน ทางผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีข้อเสนอให้เลื่อนการจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ออกไปประมาณ 2 ปี เพื่อจัดทำระบบ ซึ่งคงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าให้เก็บภาษี
โดยตั้งแต่ปี 2561 ที่มีการบังคับใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ที่เป็นการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล ออกมาควบคู่กับ พ.ร.ก.การประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจก็ทราบอยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็มีประชาชนผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการเงินได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลปีละหลายร้อยราย บางปีก็เป็นหลักพันราย กรมสรรพากรได้เงินเข้ามา 20-30 ล้านบาท
เอกชนเสนอ 3 แนวทาง
สำหรับข้อเสนอที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเสนอ 3 แนวทาง การคำนวณภาษีมาให้กรมสรรพากรพิจารณานั้น คงยากที่จะดำเนินการตามนั้น และผู้ประกอบแต่ละรายก็ยังมีความคิดเห็นต่างกันอยู่ โดยภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ กรมสรรพากรจะทำให้ชัดเจนในเรื่องวิธีคำนวณภาษีคริปโทเคอร์เรนซี และการหักภาษี ณ ที่จ่าย
รวมทั้งในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย (VAT) และส่วนที่ยังมีข้อสงสัยในรายละเอียดชัดเจนมากกว่านั้นก็อาจจะเป็นการเข้าไปดูในสเต็ปต่อไป
เคาะภาษีปี’64 ขาดทุนหักกลบได้
แหล่งข่าวกล่าวว่า แนวทางเบื้องต้นกรมสรรพากรจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ระยะสั้น คือ การจัดเก็บภาษีในรอบปีบัญชี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งต้องยื่นแบบรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายใน 30 มี.ค.นี้ ซึ่งในส่วนนี้มีแนวโน้มว่าจะให้ผู้เสียภาษีสามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ ถ้าสุดท้ายตลอดทั้งปี ผู้ลงทุนมีผลขาดทุนจากการซื้อขายก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากมีกำไรก็ต้องคำนวณรวมในภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
จ่อเลิกใช้ Final Tax เก็บภาษีปี’65
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า ในระยะสั้นสรรพากรจะมีการออกคู่มือ หรือไกด์ไลน์ แนวทางยื่นแบบภาษีของปี 2564 ส่วนแนวทางข้างหน้าคือ ตั้งแต่ปีภาษี 2565 เป็นต้นไป ยังไม่มีข้อสรุป จะมีการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ขึ้นมาพิจารณาแนวทางร่วมกัน เนื่องจากกรมสรรพากรยังต้องรอรวบรวมความคิดเห็นจากผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลทุกฝ่าย
โดยแนวทางที่พิจารณาไว้เบื้องต้นก็คือ อาจต้องแก้กฎหมายประมวลรัษฎากร จากเดิมที่กำหนดให้หัก ณ ที่จ่าย 15% จากกำไร หรือ capital gain ไปเป็นการจัดเก็บในลักษณะ final tax (เงินได้ที่มีการเสียภาษีสุดท้าย) คือ เงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว โดยผู้มีเงินได้สามารถเลือกที่จะนำมารวม หรือไม่รวมคำนวณ ในการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ได้ เหมือนกรณีรายรับจากดอกเบี้ย หรือเงินปันผล
หวั่นนักลงทุนไทยหนีเทรด ตปท.
นายพีรเดช ตันเรืองพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) กล่าวให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเก็บข้อมูลการซื้อขายตามกฎหมายอยู่แล้ว
แต่อาจยังไม่พร้อมให้ลูกค้าจำนวนมากดึงข้อมูลไปใช้พร้อมกัน จึงต้องมีการสร้างระบบใหม่ขึ้นเพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีที่จะเกิดขึ้น ส่วนแนวทางในการจัดเก็บภาษี ทางสมาคมได้เสนอความคิดเห็นนี้ไปยังภาครัฐแล้ว
“หากการจัดเก็บไม่สอดรับกับนานาชาติและการลงทุน อาจทำให้นักลงทุนไทยย้ายเงินไปลงทุนกับ exchange ต่างประเทศ เรื่องนี้จึงส่งผลกระทบใน 2 มิติ คือ รัฐบาลอาจจัดเก็บภาษีได้ลดลง ที่ผ่านมามีการเก็บภาษีจากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้ว ถ้านักเทรดย้ายไปเทรดแพลตฟอร์มต่างประเทศรายได้ของแพลตฟอร์มในประเทศก็จะลดลง และกระทบการจัดเก็บภาษีของรัฐด้วยอีกมิติส่งผลต่ออุตสาหกรรมคริปโตในไทย” นายพีรเดชกล่าว
อ้างอิงข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจ