คอลัมน์ Pawoot.com ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ เงินคริปโทเป็นเรื่องที่ผมเคยคาดไว้แล้วว่าปีหน้าจะเริ่มเกิด cryptocommerce แต่วันนี้มาดูในแง่ความท้าทายและการยอมรับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกัน ผมคุยกับผู้ให้บริการ exchange อยู่บ้าง เพราะมีบริษัททำเพย์เมนต์เกตเวย์ ซึ่งต้องมีการเชื่อมต่อกับทุกธนาคาร ย้อนไป 7 ปีก่อนที่บิตคอยน์เริ่มในไทย ผมเป็นเจ้าแรกที่เปิดรับจ่ายเงินด้วยบิตคอยน์ โดยเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ exchange ที่ทำหน้าที่ซื้อขายคริปโทตอนนั้นคือ BX เป็น exchange รุ่นแรก ๆ มาก่อน Bitkub แต่เจ้าของไม่ใช่คนไทย ในยุคหลังการทำสกุลเงินดิจิทัลเริ่มมีกฎหมายมาเกี่ยวข้อง เพราะ สินทรัพย์ดิจิทัลไม่เหมือนการโอนเงินผ่านธนาคาร ไม่รู้ว่าเจ้าของหรือคนที่ถือเหรียญเป็นใคร โลกคริปโทเคอร์เรนซีเป็นโลกที่เห็นได้หมดว่าทำธุรกรรมโอนจากไหนไปไหน ดูของทุกคนบนโลกนี้ได้ แต่ไม่รู้ว่ากระเป๋าต้นทางเป็นใคร ปลายทางเป็นใคร นั่นคือปัญหา จะเห็นรหัสเลขบัญชีวอลเลตนี้ไปวอลเลตนั้นแต่ไม่เห็นเป็นชื่อของใคร 4 ปีก่อนอเมริกามีมาร์เก็ตเพลซชื่อ Silk Road ขายของผิดกฎหมาย การจะเข้าไปได้ต้องผ่านระบบ TOR เป็นการเข้ารหัส จะไม่รู้เลยว่าผู้ซื้อ-ผู้ขายเป็นใคร และใช้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นเครื่องมือจ่ายเงิน ทำให้ไม่รู้ว่าคนนั้นเป็นใคร เว็บนี้โด่งดังมากในวงการสินค้าผิดกฎหมาย มีการนำเหรียญคริปโทไปใช้เป็นเครื่องมือในด้านผิด ๆ สิ่งหนึ่งที่แบงก์ชาติไม่อยากสนับสนุนให้เอาบิตคอยน์มาใช้ในการซื้อขายก็คือ เงินมีความผันผวน ถ้านำมาใช้จะทำให้เจ้าของธุรกิจขาดทุนได้ และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม แต่สิ่งที่แบงก์ชาติ และ ปปง.กลัว เพราะอีกฟากที่เป็นโลกมืดก็จะมีพวกมิจฉาชีพหรือทำงานด้านมืดใช้เงินคริปโทเป็นเครื่องมือในการจ่ายเงิน เพราะการที่สรรพากรเรียกเก็บภาษีหากมีเงินเข้าบัญชีเกิน 400 ครั้งต่อปี มีผลกระทบต่อธุรกิจพนันออนไลน์หรือหวยออนไลน์ ฯลฯ ที่มีการโอนเงินเกินจำนวนแน่นอน สิ่งที่น่ากังวลคือ ต่อไปการโอนเงินจะเป็นการโอนแบบคริปโท ซึ่งตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย นอกจากนั้น เดี๋ยวนี้การจ่ายค่าบริการ เช่น เกม NFT ในออนไลน์ จ่ายด้วยคริปโทได้อีกช่องทาง การโอนง่ายมาก โอนแล้วส่ง transaction log เป็นลิงก์ URL ที่บอกว่ารายการจากวอลเลตของผมวิ่งออกไปวอลเลตของเขาแล้ว ซึ่งทุกคนดูรายการนี้ได้เหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าเป็นวอลเลตของใครเท่านั้น การที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร “แบงก์ชาติ” จึงต้องเข้าไปกำกับดูแลผู้ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทในประเทศไทย หรือ exchange ไม่ว่าจะเป็น Bitkub, Zipmex, Satang ฯลฯ กำกับแน่นหนามากคือ ต่อไปใครจะสมัครคริปโทผ่านผู้ให้บริการเหล่านี้ต้องยืนยันตัวตนหรือ e-KYC ก่อน แต่ภาครัฐมองว่าวิธีนี้เป็นการยืนยันตัวตนแบบขั้นต่ำ หากต้องการให้สูงกว่านั้นต้องนำบัตรประชาชนเสียบเข้าไปในเครื่องอ่าน เรียก dip chip ที่ความปลอดภัยเป็นระดับสูงขั้นที่ 2 หรือ 3 เลย ตรงนี้สร้างความปวดหัวให้คนในโลกคริปโท แม้การเปิดบัญชียังใช้แบบขั้นต่ำ แต่หากคุณต้องการเปิดบริการคริปโทไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการใดบอกได้ว่าตอนนี้ต้องใช้เวลามากกว่าที่เคย เพราะผู้ที่สมัครใช้คริปโทเป็นล้านคนแล้ว ทำให้ผู้ให้บริการทำงานไม่ทันเพราะต้องทำตามขั้นตอน ก.ล.ต. ปปง.ที่กำหนดให้ต้องดูให้ดีว่าผู้ที่สมัครเป็นใคร หลักฐานบัตรประชาชน เลขที่ ทะเบียนบ้าน ยืนยันใบหน้า ฯลฯ แต่ละขั้นตอนใช้เวลานานมาก ฉะนั้น การซื้อขายเหรียญคริปโทผ่านผู้ให้บริการ exchange ในไทยต้องมีการยืนยันตัวตนทำให้รู้ว่าเงินเทรดที่ใคร ไปที่ไหน ฯลฯ แต่มีจุดอ่อนคือ หากโอนเงินออกไปนอกประเทศก็จะไม่สามารถรู้ข้อมูลเส้นทางของเงินได้ ยังมีช่องโหว่ จัดการลำบากมาก แม้รัฐบาลกลางหลายประเทศไม่สนับสนุนเงินคริปโท แต่ประเทศเอลซัลวาดอร์อ้าแขนรับบิตคอยน์เป็นสกุลเงินหลัก รัฐบาลเปิดวอลเลตขึ้นมาคล้ายเป๋าตังของเราชื่อ Chivo ประชาชนทุกคนสมัครวอลเลตนี้ได้ ในวอลเลตจะมีเงินให้ประมาณ 1,000 บาท เป็นบิตคอยน์นำไปใช้จ่ายในประเทศได้เลย เอลซัลวาดอร์รับบิตคอยน์ เพราะเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก แต่ละปีมีค่า fee ในการโอนเงินมหาศาล การผลักดันให้เป็นเงินบิตคอยน์ในการโอนเงินถูกกว่าเยอะ กัมพูชาเพื่อนบ้านเราก็เริ่มทำแล้ว เป็นอันดับ 2 ของโลกในการทำ central bank digital currency (CBDC) หรือเงินดิจิทัลภาครัฐชื่อว่า บากง (Bakong) ด้วยเหตุผลเดียวกับเอลซัลวาดอร์ บอกได้เลยว่า แม้รัฐบาลจะปฏิเสธโลกคริปโทที่เป็นโอเพ่นซอร์ซ หรือ DeFi Decentralized แต่รัฐบาลต่าง ๆ พยายามสร้างเงินคริปโทของตัวเองแต่เป็น Decentralized ที่ควบคุมได้ คือรู้หมดว่าใครโอนไปไหนอย่างไร ข้อดีคือโอนเงินเข้าระบบคริปโทภายในประเทศเข้าวอลเลตประชาชนแต่ละคนได้เลย ไม่ต้องผ่านธนาคาร รัฐบาลจะรู้ธุรกรรมของประชาชนได้ทั้งหมด ควบคุมเสถียรภาพการเงินและรู้ได้ว่าเงินไปอยู่ที่ไหน ที่มา : https://www.prachachat.net/